เรื่องเล่า...ของตำนานไก่ชน " อาจารย์โม กิตติ จิตรไพบูลย์ มือน้ำแห่งเมืองแปดริ้ว"

เรื่องเล่า...ของตำนานไก่ชน
ดำเนินเรื่องโดย บก.แจ็ค


   อาจารย์โม กิตติ จิตรไพบูลย์ ปรมาจารย์ตำนานมือน้ำแห่งเมืองแปดริ้ว

       เรื่องราวของหนุ่มสูงวัยผมสีขาวทั้งหัว ใส่แว่น ตัวเล็ก ใส่เชิ้ตลายตารางหลวมๆ ใส่กางเกงสั้นยี่ห้อเจเจ เดินเท้าเปล่าอยู่ในสนามไก่ชน เดินไปทางไหนก็มีแต่คนยกมือไหว้ อัธยาศัยดียิ้มแย้ม บางครั้งก็มีเสียงหัวเราะออกจากใบหน้าที่เปื้อนด้วยรอยยิ้ม คำพูดอาจจะไม่หวานหูสักเท่าไหร่สำหรับคนที่เพิ่งเคยได้เห็นหรือเคยได้สัมผัส "กู" ใช้เป็นสรรพนามแทนตัว และ "มึง" แทนชื่อผู้สนทนาด้วย ภาษาสมัยพ่อขุนราม ด่าบ้าง ตะโกนเรียกชื่อบ้าง ไอ้โน้น ไอ้นี่ แต่คนที่หันมาจากการร้องเรียกต่างยิ้มแย้มและก้มหัวพนมมือด้วยความเคารพแทบทุกคน
     เมื่อเกือบ 20 ปี ที่ผ่านมาตัวผมเองอยู่ในช่วงที่กำลังค้นหาตัวเอง อายุย่างเข้าเบญจเพส 25 ปีบริบูรณ์ หลังจากที่ผิดหวังน้อยเนื้อต่ำใจจากที่ทำงานแห่งเก่า เรื่องที่ถูกวางตัวไปเป็น เมเนเจอร์ คุมฟิตเนสที่สาขารัตนาธิเบศร์ แต่ถูกถอดออก ด้วยความประพฤติเรื่องชู้สาวจึงถูกระงับการเลื่อนตำแหน่ง จากเงินเดือนรวมค่าคอมมิชชั่นรับต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท  ผมตัดใจหันหลังให้กับวงการ เซลล์ฟิตเนส ลาออกโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าจะไปทำงานอะไร  เก็บของจากที่ทำงานเก่ากลับที่พัก ก่อนจากที่ทำงานเก่าครั้งสุดท้าย แต่ก็ไม่ลืมที่จะคว้านิตยสารไก่ชนเล่ม 1 มีชื่อว่า "เซียนไก่ชน" ติดมือมาด้วย
เปิดเห็นประกาศรับสมัครบรรณาธิการฝ่ายข่าวประจำนิตยสารเซียนไก่ชน รุ่งเช้าไม่ได้รอที่จะเข้าไปสมัครงานและได้ทำงานที่นั่น และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ คอลัมน์ "ตำนานมือน้ำที่ดีที่สุดตลอดกาลของประเทศไทย"
       ในฐานะนักข่าวหน้าใหม่ของนิตยสารเซียนไก่ชน ผมไม่มีโอกาสเข้าไปทำข่าวที่สนามไก่ชนเทิดไทแทบทุกอาทิตย์ เพื่อเขียนข่าวความเคลื่อนไหวของวงการไก่ชน ในตอนนั้นสนามไก่ชนเทิดไทถือว่าเป็นสนามเปิดใหม่ที่มิตรรัก แฟนไก่ชนจากทั่วประเทศ หลั่งไหลเข้ามาจากทั่วทุกสารทิศ เพราะที่นี่มีไก่ชนเงินล้านแทบทุกเดือน ที่นี่จึงเป็นแหล่งข่าวที่สำคัญของบรรดานักข่าวไก่ชนอย่างพวกเรา  ด้วยความที่เป็นเด็กใหม่ในวงการ ผมไม่รู้จะคุยกับใคร แต่ละคนก็ต่างหน้าตาคร่ำเคร่ง มองดูแล้วไม่น่าจะเป็นมิตรเลยถ้าเข้าไปคุยด้วย  และมาครั้งไหนก็จะเห็นลุงหัวขาวใส่เสื้อเชิ้ตคนนี้เดินเท้าเปล่าอยู่แถวนี้ตลอด  ไม่ได้คุยกับใครแล้วจะเอาข่าวจากไหนไปเขียนส่งเป็นต้นฉบับ  เอาวะ! เข้าไปคุยกับลุงแก่ๆนี่แหละว่ะ คุยกับคนอื่นหน้าตายิ้มแย้มอย่างน้อยเขาก็ต้องคุยกับเราบ้างล่ะ  สวัสดีครับ พร้อมกับยกมือไหว้  ลุงรับคำสวัสดีคนแปลกหน้าอย่างผมด้วยการพยักหน้า และตอบกลับด้วยคำหวานๆว่า "มึงเป็นใครวะ" ผมได้ยินถึงกับหน้าชาเลย ผมทำตลกกลบเกลื่อนหัวเราะแห้งๆ แนะนำตัวผมเป็นนักข่าวไก่ชนครับ ดูหัวจรดเท้าลักษณะการแต่งตัว ผมถามลุงว่า ลุงเป็นภารโรงที่นี่เหรอครับ ผมไม่รู้จักใครเลยขอสัมภาษณ์ลุงหน่อยนะครับ จังหวะที่แกนั่งลงพอดีที่มานั่ง ผมเลยถือโอกาสนั่งด้วย อย่างน้อยคุณลุงใจดีคนนี้ก็คือคนแรกที่ผมกล้าคุยด้วย แกบอกว่าแกตามพรรคพวกเอาไก่มาชนที่นี่ มาบ่อยบ้านอยู่ไม่ไกลจากสนามนี่เอง หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ผมมาตลอดและทักทายลุงทำทรงสนิทกับเขาไปเลย ความสัมพันธ์ลุงกับผมเริ่มคุยกันมากขึ้นแต่ผมก็ยังไม่เคยถามชื่อลุงเลย 
        และครั้งที่ทำให้ผมรู้สึกช็อคที่สุดก็เห็นจะเป็นนัดประวัติศาสตร์ของสนามเทิดไทแห่งนี้เป็นคู่ชนระหว่าง ซุ้มแตงโมจากจังหวัดระยอง ปะทะ ซุ้มโฮคิทเช่น ไก่รองบอลของสนามเทิดไท ผมเดินตามหาลุงคนเดิม เดินหาหลายรอบจนคิดว่านัดนี้ลุงเขาอาจจะไม่มา และเมื่อถึงเวลาคู่ประวัติศาสตร์ชิงเดิมพันรวม 11,000,000 บาท ก็เป็นหน้าที่ของนักข่าวที่จะต้องเข้าไปในสังเวียนกลางของสนามเทิดไทแห่งนี้ เพื่อถ่ายรูปให้ได้มากที่สุด เพื่อลงปกนิตยสารข่าวนี้เรียกความสนใจและเรียกยอดขายให้กับหนังสือเซียนไก่ชนได้มากอย่างแน่นอน ผอ.เจษฎา อาภาภิรักษ์ เจ้าของนิตยสาร คำพูดเพราะๆของแกยังกองอยู่ในนักข่าวหน้าใหม่อย่างผม กำชับก่อนออกมาทำงานว่า "มึงเข้าไปถ่ายรูปกลางสังเวียนมุดเข้าไปเลยแล้วถ่ายรูปมาให้ได้มากที่สุด" ผมเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ก็เพิ่งเคยเห็นคนที่มาดูไก่ชนเยอะขนาดนี้ เต็มความจุของ สนามเทิดไท ล้นไปถึงข้างบนอัฒจันทร์ชั้นบนสุด  ในสังเวียนกลางทีมงานของทั้งสองฝ่ายรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการไก่ชน อาทิเช่น ท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์เทพสุทิน เฮียฮง โฮคิด เช่น รวมถึง ท่านชาดา ไชยเศรษฐ์ เป็นสักขีพยานในนัดประวัติศาสตร์นี้ด้วย ผมเข้าไปถ่ายรูปทางฝั่งรองบ่อนซุ้มโฮคิทเช่น ซึ่งมาทราบตอนหลังว่ามีน้ำคนปล่อยไก่คือพี่รงค์  เสียงอึงร้องโหวกเหวกทำให้นักข่าวหน้าใหม่อย่างผมหูอื้อตาลาย หลังจากนั้นผมต้องเข้าไปถ่ายทางฝ่ายซุ้มแตงโม ในจังหวะมือน้ำกำลังนั่งเช็ดน้ำเอียงข้าง ผมเอี้ยวตัวเพื่อจะถ่ายให้ได้ลูกทั้งมือน้ำและใจให้เห็นชัดเจน สายตาที่มองผ่านเลนส์ กะตำแหน่งให้อยู่ตรงกลาง จังหวะที่ผมกดชัตเตอร์ ไฟจากแฟลตที่ตั้งเป็นอัตโนมัตวัดค่าแสงต่ำกว่าปกติ ไฟแฟลชสว่างวาบพร้อมกับการกดชัตเตอร์ ซึ่งห่างจากมือน้ำประมาณแค่วาเดียว  แสงแฟลตเข้าหน้าเต็มๆ
พร้อมกับเสียงที่มาจากคนเช็ดน้ำไก่ "มึงไปถ่ายไกลๆกูหน่อย" เสียงที่คุ้นหูและภาพที่ได้เห็นคือ ลุงคนที่ผมนั่งคุยเป็นประจำ ซึ่งไม่คิดว่าจะทำหน้าที่มือน้ำซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดและเป็นตัวชี้วัดชัยชนะของคู่ไก่นักประวัติศาสตร์ 11 ล้าน  หลังจากถ่ายรูปเสร็จผมออกมาจากสังเวียนใหญ่และถามคนที่อยู่หน้าปากประตูทางเข้าของสังเวียนกลาง  ชื่อของคุณลุงคือ อาจารย์โม มือน้ำรุ่นเก่า ฝีมือระดับปรมาจารย์ ที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่เต็มไปหมด เขาคือกระบี่มือหนึ่งของการให้น้ำไก่ในดวงใจของใครหลายคน
       นี่เป็นเพียงแค่ปฐมบทของตำนานเกจิอาจารย์ที่มีฝีมือชั้นครูในเรื่องของการให้น้ำ และต่อจากนี้ไปทุกๆวันจะเป็นเรื่องราวอัตชีวประวัติ และเทคนิคต่างๆ รวมถึงเคล็ดวิชาที่ถูกถ่ายทอดมาแบบปากต่อปาก เรียบเรียงโดยผมเองจากวันนั้นถึงวันนี้ประสบการณ์เกือบ 20 ปีจะถ่ายทอดเคล็ดวิชาที่อาจารย์โมได้เล่าเป็นเรื่องราวแปลงเป็นตัวหนังสือเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่านและคนรุ่นใหม่ทุกคน......ฝากติดตามตอนต่อไปด้วยครับ