เรื่องเล่าตำนานของไก่ชน (ตอนที่3)

เรื่องเล่าตำนานของไก่ชน (ตอนที่3)

ดำเนินเรื่องโดย บก.แจ็ค


อาจารย์โม กิตติ จิตรไพบูลย์ ปรมาจารย์ตำนานมือน้ำแห่งเมืองแปดริ้ว 

     ความเดิมจากตอนที่แล้ว ลุงผมสีขาวที่ผมเคยคุยอยู่ตลอดในสนามเทิดไท ที่จริงแล้วก็คืออาจารย์โม ในโซนแปดริ้ว แถบนั้นมือน้ำส่วนใหญ่ก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาของแกแทบทั้งนั้น ไม่แปลกใจเลยที่เดินภายในสนามเทิดไทมีแต่คนทักทายยกมือไหว้แก แล้วเรื่องการพูดแบบ "กู-มึง" นั่นก็คือสไตล์การพูดแบบโบราณเหมือนผู้ใหญ่คุยกับเด็ก ซึ่งทุกคนคุ้นหูและชินตากับคำพูดและสไตล์การแต่งตัวแบบเดิมแทบทุกครั้งที่เจอ 
     เล่าถึงบรรยากาศวันนั้นนักประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นที่สนามเทิดไท ยุครุ่งเรือง บริหารงานโดยเสี่ยวิศิษฐ์ในตอนนั้นไม่มีคู่ไหนที่จะชนแพงและน่าตื่นเต้นเร้าใจเท่ากับคู่นี้อีกแล้ว ยอดไก่แห่งระยองนำทีมโดยเสี่ยบลู เซียนใหญ่มือหนัก ช่วงนั้นต้องบอกว่าแกติดอันดับต้นๆของเซียนระดับประเทศเลยก็ว่าได้ เล่นลูกใหญ่ เล่นหนัก ทั้งไก่ชนและมวย ในไฟล์นี้พาตัวเก่ง ผมยังจำติดหูได้อยู่เลย ไก่ชื่อเจ้าพลังพล แม้จะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม และคู่ต่อกรคือยอดพม่าแห่งซุ้มโฮคิทเช่น ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นรองบ่อนของสนามเทิดไทแห่งนี้  ไม่รู้คนหลั่งไหลมาจากไหนเต็มไปหมด เท่าที่จำความได้ผมไม่เคยเห็นสนามไก่ชนที่ไหนคนเยอะเท่านั้นมาก่อน อัศจรรย์ด้านบนสุดเต็มไปด้วยแฟนไก่ชนทั่วฟ้าเมืองไทย ที่ยังไงตัวเองก็ต้องจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทยชิง 11 ล้านในครั้งนี้ เสียงกระหึ่มกึกก้องกัมปนาท  เสียงเชียร์สนั่นหวั่นไหว รูปเกมเจ้าพลังพลในยกที่ 2 ตกเป็นรองถึง 8-1 ตอนนั้นหลายต่อหลายคนก็มองว่าตัวเก่งของเสี่ยบลู ไม่น่าจะรอดไปได้ในไฟล์นี้ เพราะตัวเก่งของโฮคิทเช่นตัวนี้คมเหลือเกิน ปากไวกว่า แม่นกว่า จังหวะดีกว่า เรียกได้ว่าเหนือกว่าในทุกรูปแบบ ช่วงพักยก อาจารย์โมนั่งทำแผล ในอาการที่นิ่ง ค่อยๆละเมียดในการทำ ทุกรายละเอียดเรื่องการเช็คประคบ เห็นได้ชัดเลยว่าเป็นศิลปะวิชาความรู้แบบดั้งเดิมของมือน้ำ หลายต่อหลายคนสะกิดให้กันดู วันนี้คือการให้น้ำแบบชั้นครู ยกแล้วยกเล่า ไม่มีอาการรีบร้อนลนลาน ให้เห็นเลยทั้งๆที่ชิงเดิมพัน 11 ล้าน กองเชียร์ต่างเข้ามารุมดูกัน ตั้งแต่ยก 2 จนถึงก่อนยกสุดท้าย ราคาได้-เลิก คนยังเชื่อจากการดูบาดแผลว่ายังไงก็ไม่รอด จนก่อนหมดยกสุดท้าย 1 ยกราคาถึงกลับมาเสมอเลิก 
และแล้วการปฏิเสธความพ่ายแพ้ด้วยฝีมือระดับชั้นครูแสดงให้หลายต่อหลายคนเห็นว่า ศาสตร์ของการทำน้ำระดับครูบาอาจารย์ ทำอย่างถูกวิธีแล้วมันจะเห็นผลแบบนี้
       ในครั้งนี้นี่เองชื่อของอาจารย์โมดังกระฉ่อนไปทั้งประเทศปกติในย่านกรุงเทพฯปริมณฑลลูกศิษย์ลูกหาก็เดินหัวจะชนกันไปหมดแล้ว หลายต่อหลายคนพูดถึงการประคองไก่ทำน้ำของอาจารย์โม ทางทีมงานสนามเทิดไทตอนนั้นผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน แต่ละคนซื้อไก่ราคาแพงกันมาทั้งนั้น เพื่อหวังว่าจะเป็นตัวรับแขกสร้างสีสันให้กับสนาม ไหนๆก็มียอดไก่แล้ว แล้วถ้าเอายอดคนอย่างอาจารย์โมเข้ามาทำน้ำ แน่นอนว่าประเทศไทยก็ไม่กลัวใครทั้งสิ้นเหมือนกัน  ว่าแล้วทางสนามเทิดไทก็ส่งเทียบเชิญที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ โดยที่นายใหญ่ตอนนั้นเป็นคนชักชวนเอง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาจารย์โมรับตำแหน่งมือน้ำกระบี่มือหนึ่งแห่งสนามเทิดไท โดยที่มีมือสองคือพี่เฉิน เป็นผู้ช่วยอีกที  และในยุครุ่งเรืองยุคนั้นของสนามเทิดไท ยอดไก่ตัวเก่งที่ถูกกว่านซื้อจากทั่วทุกสารทิศของประเทศไทยจากเม็ดเงินอันมหาศาลของทีมงานบริหารสนามเทิดไท หลั่งไหลเรียงแถวเข้าสู่การเป็นนักสู้ที่มีดีกรีถึงรองบ่อนสนามเทิดไท เลี้ยงและทำน้ำโดยอาจารย์โม ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบที่ละเอียดยิบ ชั้นเชิงในการเปรียบ เทคนิคการอ่านเชิงคู่ต่อสู้ การพูดต่อรองเจรจา ฟังดูแล้วอยากให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้กันจริงๆ  สมัยนั้นไม่มีถามเชิงชนนะครับ ไม่มีถามว่ากี่กิโล ไม่ถามกันว่าขึ้นตาชั่งได้หรือเปล่า ไม่มีมาชั่งแบบทุกวันนี้  ใช้ศิลปะในการพูดคุยต่อรอง ใช้ศาสตร์ความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา พินิจพิเคราะห์ดูกริยาดูตำหนิ ดูลักษณะ ดูเกล็ดแข้ง ดูโดยรวมแค่นี้ก็อ่านเชิงชนคู่ต่อสู้เหมือนว่าไฟท์ที่แล้วไปนั่งดูมันชนยังไงอย่างนั้น  ในยุคนั้นผู้มาเยือนทีมแกร่งจากภูธรน้อยตัวถ้าไม่ใช่ยอดไก่จริงๆยากที่จะผ่านรองบ่อนสุดแกร่งในช่วงนั้นได้  ถ้าคิดว่าเป็นไก่รองบ่อนแล้วจะตามใจลูกค้า แต่การตัดสินใจครั้งสุดท้ายจะอยู่ที่อาจารย์โมจะเป็นคนบอกเองว่าชอบหรือไม่ชอบ .....สำหรับในตอนนี้ต้องขอเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เดี๋ยวตอนหน้าเรามาต่อกันถึงเรื่องของเทคนิคการเปรียบแบบอาจารย์โม แล้วรู้หรือไม่ว่าเทคนิคที่น้อยคนนักจะรู้เรื่องของการเปรียบ เหลือเชื่อจริงๆว่าแกใช้วิธีนี้...ติดตามตอนหน้ากันนะครับกับเรื่องราวของตำนาน