คลินิกไก่ชน "การกักโรค"

คลินิกไก่ชน
ดำเนินเรื่องโดย หมอไก่


ความสำคัญของการกักโรคแม่พันธุ์....รู้ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดอย่างมหันต์

     ในวงการเพาะเลี้ยงไก่ชนระดับมืออาชีพ การคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสายเลือดที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะพ่อพันธุ์ที่มีราคาสูงถึงหลักแสนหรือหลักล้านบาท การป้องกันโรคติดต่อก่อนนำแม่พันธุ์เข้าผสมพันธุ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ ด้วยเหตุนี้ "การกักโรค" จึงถือเป็นขั้นตอนมาตรฐานที่มีความจำเป็นทั้งในเชิงสุขภาพสัตว์และการลงทุน
     เหตุผลที่ต้องกักโรคแม่พันธุ์ก่อนผสม
   1. ป้องกันโรคติดต่อเข้าสู่ฟาร์มไก่ที่ซื้อมาจากแหล่งภายนอกมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อโรคเข้าฟาร์มโดยไม่รู้ตัว รู้ได้อย่างไรว่าฟาร์มที่รับไก่มาสุขอนามัยจะดีแค่ไหน  เราไม่สามารถรู้ได้ว่าระหว่างทางในรถขนส่งติดเชื้ออะไรมาบ้าง 
โรคบางชนิดสามารถแฝงตัวอยู่ในร่างกายไก่โดยไม่มีอาการในช่วงแรก
   2. รักษาคุณค่าทางเศรษฐกิจของพ่อพันธุ์ที่มีมูลค่าสูง บางตัวราคาเป็นแสนหรือเป็นล้านบาท อาจสูญเสียความสามารถในการผสมพันธุ์หากติดโรค การป้องกันด้วยการกักโรคจึงเป็นการรักษาทุนและผลผลิตในอนาคต
   3. ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดหากมีการแพร่เชื้อภายในฟาร์ม อาจต้องกักตัวหรือทำลายไก่ทั้งหมด ซึ่งส่งผลเสียร้ายแรงต่อกิจการ ถึงกับเจ๊งเลยนะครับ เพราะฉะนั้นต้องคิดอย่างละเอียดอย่ารีบร้อน เพราะกลัวว่าลูกค้าจะรอ หรือกลัวว่าจะไม่ได้ผลผลิต ใจเย็นๆ เพราะทุกอย่างมันมีเวลาของมันครับ
    ..ระยะเวลาและวิธีการกักโรคแม่พันธุ์
      ควรกักไก่ใหม่อย่างน้อย 7-10 วัน ก่อนปล่อยเข้าผสมและเอาไว้ประจำที่ฟาร์มหลัก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการของโรคแฝงหรือการติดเชื้อจากแหล่งภายนอก
    ..สถานที่กักโรค
      แยกออกจากพื้นที่ฟาร์มหลักชัดเจน มีรั้วหรือสิ่งกั้นเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับไก่อื่นควรมีอุปกรณ์แยกเฉพาะ เช่น ภาชนะน้ำอาหาร และเครื่องมือทำความสะอาด และที่สำคัญดูเรื่องของสภาพอากาศต้องไม่ร้อนอึดอัดจนเกินไป คิดง่ายๆว่าถ้าคนอยู่ได้ใจก็อยู่ได้ ถ้าคนร้อนอึดอัดไก่อยู่มันก็ไม่สบายเช่นกัน อาจจะร้อนนิดหน่อยได้ ที่สำคัญคือดูอากาศถ่ายเท อย่าให้ลมโกรกจนเกินไป เดี๋ยวแทนที่จะได้จากโรค ก็จะมาป่วยเอาที่นี่ซะอีก
      การดูแลระหว่างกักโรค : สังเกตอาการทุกวัน เช่น น้ำมูก, ไอ, ท้องเสีย, หงอย, ซึม ตรวจสุขภาพหากพบความผิดปกติ ทำวัคซีนตามโปรแกรมพื้นฐาน อย่าเข้าข้างตัวเองนะครับ ดูให้แน่ใจอย่าใช้คำว่าไม่เป็นไรหรอก ครับถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา และถ้าคนดูแลไม่ใช่เจ้าของฟาร์มแต่เป็นลูกน้อง คำว่าไม่เป็นไรไม่มีนะครับ แต่อาจจะเป็นคำว่า "เชิญออกไป"มากกว่า
    ...การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนนำแม่พันธุ์เข้าฟาร์ม
1. อาบน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไอโอดีน หรือผสมเบตาดีนอ่อนๆไปในน้ำ ก่อนนำเข้าโรงเรือน
2. ฉีดพ่นบริเวณกรง สุ่ม และพื้นที่เลี้ยงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์
3. เปลี่ยนวัสดุรองพื้น และทำความสะอาดอุปกรณ์ให้อบแห้ง ก่อนใช้ทุกครั้ง
4. หลีกเลี่ยงการป้อนอาหารจากมือโดยตรงจนกว่าระยะกักโรคจะผ่านไป
   ...โรคติดต่อทางการผสมพันธุ์ในไก่ชน
       แม้ไก่จะไม่ผสมพันธุ์ด้วยวิธีที่เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่การผสมพันธุ์แบบ "ตัวต่อตัว" ในไก่ชนก็มีความเสี่ยงในการติดต่อเชื้อโรคเช่นกัน โดยเฉพาะเชื้อที่แพร่ผ่านระบบสืบพันธุ์หรือการสัมผัสโดยตรง โรคที่สามารถติดต่อผ่านการผสมพันธุ์ ได้แก่
    ...โรคซัลโมเนลลา
       อาการคือ ท้องเสีย, อ่อนแรง, ตัวซีดอาจเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา  โรคหวัดคดัง อาการไอ, น้ำมูก, หายใจลำบากส่งผลต่อระบบหายใจและสมรรถภาพผสมพันธุ์
    ....โรคพุลโลรัม อาการคือ ลูกไก่ตายจำนวนมาก, ถ่ายเป็นสีขาวโรคติดต่อทางฟักไข่ รุนแรงสูง
    ....โรคฝีดาษ อาการมีตุ่มบริเวณหงอนและปาก แม้ไม่ถึงตาย แต่ลดศักยภาพการผสมพันธุ์ และทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในสุขอนามัยของฟาร์ม 
    ข้อควรระวังเพิ่มเติม
     
ควรมีการตรวจเลือดหาเชื้อโรคสำคัญก่อนนำแม่พันธุ์เข้าเล้า หลีกเลี่ยงการสัมผัสไก่จากหลายแหล่งในเวลาใกล้เคียงกัน บุคคลที่เข้าพื้นที่กักโรคต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและผ่านจุดฆ่าเชื้อก่อนออกเข้า
     การกักโรคก่อนการผสมพันธุ์ไม่ใช่เพียงเพื่อป้องกันการระบาดของโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการปกป้องคุณค่าของสายพันธุ์ไก่ชนสายเลือดเงินแสนเงินล้านที่มีมูลค่าสูง การจัดการที่มีระบบตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นรากฐานของฟาร์มที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืนในระยะยาว